พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ด้านป่าไม้)




เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึงแรงบันดาลใจในความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ป่า น้ำดิน ซึ่งโยงใยมีผลกระทบต่อกัน ตั้งแต่เมื่อครั้งยัง ทรงพระเยาว์ว่า".....อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมถึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้ จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครูคนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้วสอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการอนุรักษ์ดินแล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่า อย่างนั้นเม็ดฝนลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็วทำให้ไหลตามน้ำไป ไปทำความเสียหายดินหมดจากภูเขาเพราะไหลตามสายน้ำไป ก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ดิน และเป็นหลักของชลประทานที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด ตั้งแต่ดินภูเขาจะหมด ไปกระทั่งการที่จะมีตะกอนลงมาในเขื่อน มีตะกอนลงมาในแม่น้ำทำให้น้ำท่วมนี่นะเรียนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ....." การที่ทรงเห็นความสำคัญของปัญหาป่าเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่นๆ ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเรื่องดิน เรื่องน้ำเท่านั้น หากโยงใยถึงปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองคุณธรรมและระบบนิเวศน์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาป่า มิได้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินไป อย่างโดดๆ หากแต่รวมเอางานพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เข้าไปทำงานในพื้นที่ อย่างประสานสัมพันธ์ กันแนวพระราชดำริด้านการป่าไม้

ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ ในปี พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชทานพระราชดำริให้มีการปลูกต้นไม้ 3 ชนิด 3 ชนิดที่แตกต่างกัน คือไม้ผลไม้โตเร็วและไม้เศรษฐกิจเพื่อจะทำให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสานและสร้างความสมดุลแก่ธรรมชาติอย่างยั่งยืนสามารถตอบสนองความต้องการของรัฐ และวิถีประชาในชุมชนประการสำคัญนั้นมีพระราชดำริที่ยึด เป็นทฤษฎีการพัฒนาด้านป่าไม้โดยปลูกฝังจิตสำนึกแก่ประชาชนว่า "เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง" นับเป็นทฤษฎีที่เป็นปรัชญาในด้านการพัฒนาป่าไม้ที่ยิ่งใหญ่โดยแท้

ทฤษฎีการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกตามหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฎธรรมชาติ
(Natural Reforestation)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ลดลงเป็นอย่างมาก จึงทรงพยายามค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงานตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะอันเป็นธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริหลายวิธีการ คือ
กลยุทธ์การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกเป็นไปตามหลักการกฎธรรมชาติ (Natural Reforestation) อาศัยระบบวงจรป่าไม้ และการทดแทนตามธรรมชาติ (Natural Reforestation) คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตของต้นไม้และควบคุมไม่ให้มีคนเข้าไปตัดไม้ไม่มีการรบกวนเหยียบย่ำต้นไม้เล็กๆ เมื่อทิ้งไว้ช่วงระยะเวลา

การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
“...ทิ้งป่าไม้นั้นไว้ 4 ปี ตรงนั้น ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว... คือว่าการปลูกนั้น สำหรับอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง...”
พระราชดำรัส วันที่ 4 ธันวาคม 2537

1.ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ด้วยวิธีการ 3 วิธี คือ
ก. " ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลยป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว"
ข. " ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น…”
ค. " ในสภาพป่าเต็งรังป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ ก็จะแตกกิ่งออกมาอีกถึงแม้ต้นไม้สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้"
2.ปลูกป่าในที่สูง ทรงแนะนำวิธีการ ดังนี้

" ใช้ไม้จำพวกที่มีเมล็ดทั้งหลายปลูกบนยอดที่สูง เมื่อโตแล้วออกฝัก ออกเมล็ด ก็จะลอยตกลงมาแล้วงอกเองในที่ต่ำต่อไปเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ" "การปลูกป่าทดแทนจะต้องรีบปลูกต้นไม้ คลุมแนวร่องน้ำเสียก่อนเพื่อ ให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไป..."
3.ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร หรือ การปลูกป่าธรรมชาติ
ทรงเสนอแนวทางปฏิบัติว่า
ก. ปลูกต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิม คือ " ศึกษาดูก่อนว่าพืชพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้างแล้วปลูกแซมตามรายการชนิดต้นไม้ที่ศึกษามาได้ "
ข. งดปลูกไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิม คือ "ไม่ควรนำไม้แปลกปลอมต่างพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาปลูกโดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างแน่ชัดเสียก่อน "

4.การปลูกทดแทน
ในขณะนี้ประเทศไทยเรามีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่เพียงร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ประมาณการได้เพียง 80 ล้านไร่เท่านั้น หากจะเพิ่มเนื้อที่ป่าไม้ให้ได้ประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศแล้วคนไทยจะต้องช่วยกันปลูกป่าถึง 48 ล้านไร่โดยใช้กล้าไม้ปลูกไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านต้นใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเพิ่มป่าไม้ได้ครบเป้าหมายที่กำหนดไว้เท่านั้นการปลูกป่าทดแทนจึงเป็นแนวทฤษฎีการพัฒนาป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานมรรควิธีในการปลูกป่าทดแทนเพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดินด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติดังพระราชดำริ ความตอนหนึ่งว่า “การปลูกป่าทดแทนจะต้องทำอย่างมีแผนโดยการดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาชาวเขาในการนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชลประทาน และฝ่ายเกษตรจะต้องร่วมมือกันสำรวจต้นน้ำในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อวางแผนปรับปรุงต้นน้ำ และพัฒนาอาชีพได้อย่างถูกต้อง”

◦การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา
“...การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆ ชนิด เพื่อให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์ คือ มีทั้งไม้ผล ไม้สำหรับก่อสร้าง และไม้สำหรับทำฟืนซึ่งราษฎรจำเป็นต้องใช้ ซึ่งเมื่อตัดไปใช้แล้วก็ปลูกทดแทนเพื่อหมุนเวียนทันที..."
พระราชดำรัส วันที่ 26 มกราคม 2550 ณ โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่สา อำเภอแม่ริน จังหวัดเชียงใหม่

◦การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
“ปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเสียก่อนเพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้น และแผ่ขยายกว้างออกไปทั้งสองข้างร่องน้ำอันจะทำให้ต้นไม้งอกงามขึ้น และจำมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า ซึ่งจะเกิด…..


5.การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง : การรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยพระปรีชาญาณอย่างชาญฉลาดให้เกิดประโยชน์แก่ปวงชนมากที่สุดยาวนานที่สุดและทั่วถึงกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำการปลูกป่าในเชิงผสมผสานทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคมไว้เป็นมรรควิธี ปลูกป่าแบบเบ็ดเสร็จนั้นไว้ด้วยลักษณะทั่วไปของป่า 3 อย่างพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่างนั้น มีพระราชดำรัส ความว่า
"ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆใหญ่ๆการที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้รู้สึกจะไม่ใช่ป่าไม้ เป็นสวนหรือจะเป็นสวนมากกว่าป่าไม้แต่ในความหมายของการช่วยเหลือเพื่อต้นน้ำลำธารนั้นป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม หรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตามนั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้องเพราะทำหน้าที่เป็นป่าคือเป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับให้ผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้..." และได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า
" การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่างแต่มีประโยชน์ 3 อย่าง คือไม้ใช้สอยไม้กินได้ไม้เศรษฐกิจโดยปลูกรองรับการชลประทานปลูกรับซับน้ำ และปลูกอุดช่วงไหล่ ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียว ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ..." พระราชดำริเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ดำเนินการ ในหลายส่วนราชการทั้งกรมป่าไม้และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกแห่งคือการป่าไม้ใช้สอยโดยดำเนินการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วสำหรับตัดกิ่งมาทำฟืนเผาถ่าน ตลอดจนไม้สำหรับใชในการก่อสร้างและหัตถกรรมส่วนใหญ่ได้มีการปลูกพันธุ์ไม้โตเร็วเป็นสวนป่า เช่น ยูคาลิปตัส ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์และสะเดา เป็นต้น

6.วิธีการปลูกป่าเพื่อทดแทนหมุนเวียน
นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเดิมเกี่ยวกับการปลูกป่าเพื่อใช้ทำฟืนว่า "...การปลูกป่าสำหรับใช้เป็นฟืนซึ่งราษฎรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ในการนี้จำเป็นต้องใช้เป็นประจำในการนี้จะต้องคำนวณเนื้อที่ที่จะใช้ปลูกเปรียบเทียบกับจำนวนของราษฎรตลอดจนการปลูกและตัดต้นไม้ไปใช้จะต้องใช้ระบบหมุนเวียนและมีการปลูกทดแทนอันจะทำให้มีไม้ฟืนสำหรับใช้ตลอดเวลา..."
วิธีการปลูกป่าทดแทน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำแนะนำให้มีการปลูกป่าทดแทนตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสมกล่าวคือ
1.ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกแผ้วถางและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม " การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้นแล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้นควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็ว คลุมแนวร่องน้ำเสียก่อนเพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อย ๆ ทวีขึ้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้ งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาด ความชุ่มชื้นในปีต่อไปก็ให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีกต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี "

2.การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา " จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆชนิดเพื่อให้ได้ประโยชน์เอนกประสงค์คือมีทั้งไม้ผล ไม้สำหรับก่อสร้างและไม้สำหรับทำฟืนซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำซึ่งเมื่อตัดไม้ใช้แล้วก็ปลูกทดแทนหมุนเวียนทันที "

3.การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง " ต้องมีการปลูกป่าโดยปลูกไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืนซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนแบบธรรมชาติทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย "

4.ให้มีการปลูกป่าที่ยอดเขา เนื่องจากสภาพป่าที่เขาสูงทรุดโทรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำตอนล่างและคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่มีเมล็ดเป็นฝักเพื่อ ให้เป็นกระบวนการธรรมชาติปลูกต่อไปจนถึงตีนเขา

5.ปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเหนืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีความชุ่มชื้นยาวนานพอ

6.ปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำและแหล่งน้ำให้มีน้ำสะอาดบริโภค
7.ปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูก และดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต นอกจากนี้ยังเป็นการดูแลฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า
8.ปลูกป่าเสริมธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น